ไนเตรต ไนไตรต์ พิษภัยในเนื้อสัตว์

 

เกลือไนเตรตและไนไตรต์ เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่นิยมใช้กันมากในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน แหนม กุนเชียง เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการเจริญของแบคทีเรียและช่วยในการตรึงสีให้ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์มีสีชมพู หรือ แดงสด น่ารับประทาน

 

เมื่อเรารับประทานอาหารที่มีไนเตรต แบคทีเรียในปากและกระเพาะอาหารสามารถเปลี่ยนไนเตรตเป็นไนไตรต์ได้ นอกจากนี้การเก็บอาหารในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดการเปลี่ยนไนเตรตไปเป็นไนไตรต์ได้เช่นกัน ซึ่งไนไตรต์สามารถทำปฏิกิริยากับฮีโมโกลบิน ทำให้ฮีโมโกลบินไม่สามารถจับกับออกซิเจน เกิดสภาวะการขาดออกซิเจน ผู้บริโภคที่รับประทานอาหารที่มีไนเตรต หรือ ไนไตรต์สูง จะมีอาการไม่สบายเนื่องจากขาดออกซิเจนอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ อ่อนเพลีย หายใจหอบถี่ ปวดศีรษะ หัวใจเต้นแรงและเร็วกว่าปกติ ตัวเขียว เป็นต้น หากผู้ผลิตอาหารมีการใช้สารไนเตรต หรือ ไนไตรต์ในปริมาณที่สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือ ใช้ในอาหารที่ไม่อนุญาตให้ใช้ เช่น เนื้อสัตว์สด หมูเด้ง ปลาหวาน อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้

 

จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) ปัจจุบันประเทศไทยไม่อนุญาตให้ใช้สารไนเตรตเป็นวัตถุเจือปนอาหาร แต่อนุญาตให้ใช้สารไนไตรต์ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปบางชนิด ได้แก่ ไส้กรอก โบโลน่า แฮม เบคอน แหนม ไส้กรอกอีสาน ไส้อั่ว กุนเชียง ที่ปริมาณน้อยมาก เพียง 80 มิลลิกรัม ต่อ อาหาร 1 กิโลกรัม หรือ ประมาณ 1 ช้อนชา ต่อ อาหาร 60 กิโลกรัม ซึ่งผู้ผลิตอาหารจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ในการชั่งน้ำหนักวัตถุเจือปนอาหารที่เหมาะสม ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในการผลิตอาหารระดับครัวเรือนหรือชุมชนอาจเกิดความผิดพลาดของการใช้วัตถุเจือปนอาหารเหล่านี้ได้ง่าย

 

วิธีการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปให้ปลอดภัยจากสารไนเตรต และไนไตรต์

  1. ไม่ควรบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปที่มีสีแดง หรือ ชมพู ผิดธรรมชาติของอาหาร
  2. ควรเลือกซื้ออาหารที่มีฉลาก และมีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.)
  3. ควรอ่านฉลากว่ามีการใช้ วัตถุกันเสีย ประเภทไนไตรต์ (INS 249 หรือ INS 250) หรือไม่ หากมี ไม่ควรบริโภคอาหารชนิดนั้นเป็นประจำ
  4. เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปที่มีการเก็บรักษาในอุณหภูมิเย็นตลอดการจำหน่าย

 

บทความโดย อ.ดร.วีรยา การพานิช

อาจารย์ประจำหลักสูตร

อินโฟกราฟฟิกโดย นางสาวศรารัตน์ พลเสน

นักศึกษาปริญญาโทสาขาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย

 

 

เอกสารอ้างอิง

The Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives (JECFA). Nitrate. 2002.

Available from: URL: http://www.inchem.org/documents/jecfa/jeceval/jec_1701.htm.

The Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives (JECFA). Nitrite. 2002.

Available from: URL: http://www.inchem.org/documents/jecfa/jeceval/jec_1702.htm.

กระทรวงสาธารณสุข. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5)

ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 135, ตอนพิเศษ 178 ง (ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2561).

เวณิกา เบ็ญจพงษ์, วีรยา การพานิช, จิรารัตน์ เทศะศิลป์, จุติมา ลิขิตรัตนพร, ปิยนุช วิเศษชาติ, นริศรา ม่วงศรี

จันทร์ และคณะ. การประเมินการได้รับไนเตรตและไนไตรต์จากการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปของประชากรไทย. KKU Res J 2011; 16(8): 931-41.