ผักกูด: พืชท้องถิ่น ต้านอัลไซเมอร์ในแมลงหวี่

วรวีร์ อินทชาติ และ ผศ.ดร.ปิยะ เต็มวิริยะนุกูล

ผักกูด (Diplazium esculentum (Retz.) Sw.) (รูปที่ 1) เป็นเฟิร์นท้องถิ่น ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไทยพบได้ทั่วทุกภูมิภาคที่มีอากาศชื้น ยอดอ่อนเป็นส่วนที่ถูกนำมาบริโภคเนื่องจากมีรสชาดจืดอมหวาน และเนื้อสัมผัสกรอบจึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารหลายชนิด ได้แก่ แกงจืด แกงเลียง แกงป่า เป็นต้น ไม่เพียงรสชาติที่ดีแต่ผักกูดยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายหลายชนิด อาทิเช่น วิตามินอี วิตามินบีสอง ธาตุเหล็ก และพฤกษเคมี สารเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกายรวมไปถึงระบบประสาท ซึ่งอาจนำไปสู่การต้านทานโรคที่ไม่พึ่งประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคผักกูดที่ส่งผลต่อการยับยั้งโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทในมนุษย์ยังมีอย่างจำกัด ทำให้เป็นที่น่าสนใจว่าการบริโภคผักกูดจะสามารถช่วยลดอาการผิดปกติทางระบบประสาทได้หรือไม่

รูปที่ 1: ผักกูด

ความสนใจดังกล่าวนำมาสู่การทำวิจัยวิทยานิพนธ์ของ นายฐานิศร์ ขุนแก้ว นักศึกษาปริญญาโทสาขาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย โดยมีผู้ร่วมวิจัยคือ นางสาววรวีร์ อินทชาติ นักปฏิบัติการวิจัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และมี ผศ.ดร.ปิยะ เต็มวิริยะนุกูล และคณะ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้ทำการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากผักกูดในการยับยั้งการเกิดโรคอัลไซเมอร์ที่ทำให้เกิดอาการความจำเสื่อม โดยใช้แมลงหวี่เป็นแบบจำลองในการศึกษา โดยการกระตุ้นให้แมลงหวี่เกิดภาวะความจำเสื่อมด้วยการใส่โปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในมนุษย์เข้าไป โปรตีนเหล่านี้จะแสดงออกอย่างจำเพาะที่สมองของแมลงหวี่ และเลียนแบบการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในมนุษย์ จากผลทดสอบ (รูปที่ 2) พบว่า หลังจากได้รับสารสกัดผักกูดที่ความเข้มข้น 250 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรเป็นระยะเวลา 1 เดือน ปริมาณของอะมัยลอยด์ เบต้า 42 ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เซลล์สมองตาย และนำไปสู่ภาวะความจำเสื่อมนั้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับยาโดนีพีซิล (Donepezil) ที่ใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ ผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ Scientific Report เป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสารสกัดผักกูดในการต้านโรคอัลไซเมอร์ในแมลงหวี่ อนาคตจะมีการศึกษาผลของสารสกัดผักกูดในสัตว์ทดลองอื่นและในมนุษย์ต่อไปเพื่อศึกษาปริมาณที่เหมาะสมของสารสกัดที่ปลอดภัยและให้ประสิทธิผลในคน

รูปที่ 2: ปริมาณอะมัยลอยด์ เบต้า 42 ในแมลงหวี่โรคอัลไซเมอร์ที่ได้รับสารสกัดผักกูด และยา Donepezil

กราฟแท่งแสดงระดับโปรตีนอะมัยลอยด์เบต้า 42 หลังได้รับสารสกัดผักกูดที่ความเข้มข้น 125 และ 250 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร (แท่งสีชมพู และชมพูอ่อน) เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับดีเอ็มเอสโอ (แท่งดำ) และกลุ่มทดลองที่ได้รับยาโดนีพีซิล (Donepezil) (แท่งสีแดง) ** แสดงค่า p < 0.01 แปลว่า แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากกลุ่มอื่น

 

อ้างอิง: Kunkeaw T, Suttisansanee U, Trachootham D, Karinchai J, Chantong B, Potikanond S, Inthachat W, Pitchakarn P, Temviriyanukul P. Diplazium esculentum (Retz.) Sw. reduces BACE-1

activities and amyloid peptides accumulation in Drosophila models of Alzheimer’s disease. Sci Rep. 2021; 11(1):23796.

อ่านบทความฉบับเต็มที่ https://www.nature.com/articles/s41598-021-03142-w/